3 สายการบินแทงกั๊กกลับดอนเมือง “แอร์ เอเชีย”ยิ้มรับทุกท่าเตรียมบุกใหญ่

Submitted by admin on
3 สายการบินแทงกั๊กกลับดอนเมือง “แอร์ เอเชีย”ยิ้มรับทุกท่าเตรียมบุกใหญ่
3 สายการบินแทงกั๊กกลับดอนเมือง “แอร์ เอเชีย”ยิ้มรับทุกท่าเตรียมบุกใหญ่
3 สายการบินแทงกั๊กกลับดอนเมือง “แอร์ เอเชีย”ยิ้มรับทุกท่าเตรียมบุกใหญ่

* ผู้โดยสารล้นสุวรรณภูมิ เข้าทางรัฐบาลสร้างเฟส 2
* เดินหน้ากลับลำใช้นโยบาย 2 สนามบินอย่างน้อย 5 ปี
* 3 โลว์คอร์ส ประสานเสียงรอเงื่อนไขรัฐเอาใจให้กลับมาใช้ดอนเมือง
* “แอร์ เอเชีย” เล็งบุกทั้งการตลาดและระดมทุนในตลาดหุ้นไทย
       
       ปัญหาการจราจรทางอากาศของสนามบินสุวรรณภูมินับวันจะแออัดมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการมีสายการบินใหม่ๆ เกิดขึ้น การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของสายการบินเดิม และการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้โอกาสเดินหน้าแผนที่จะลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน
       
       ในเรื่องดังกล่าว จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เด้งรับทันที พร้อมเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม การขยายสนามบินไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะต้องรอศึกษารูปแบบการลงทุน รายละเอียดของแผนลงทุน รวมถึงการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สำคัญ หากที่ ครม.อนุมัติให้ลงทุน ขั้นตอนการก่อสร้างต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี ซึ่งไม่ทันต่อการรองรับของอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตขึ้นทุกวัน
       
       จารุพงศ์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไปหาแนวทางการลดเวลาในการก่อสร้างให้น้อยกว่า 5 ปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ และเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุด จะขอความร่วมมือสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) กลับไปใช้สนามบินดอนเมือง เพราะนอกจากจะช่วยลดความแออัดแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวเติบโตด้วย และได้เจรจากับแอร์เอเชียขอให้กลับไปใช้สนามบินดอนเมือง
       
       ดอนเมืองพื้นที่ทองของโลว์คอสต์
       
       ทั้งนี้ การกลับมาใช้พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองของสายการบินโลว์คอสต์น่าจะช่วยให้ ปัญหาการจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิลดลงไปได้ เพราะสุวรรณภูมิรองรับผู้คนได้แค่ 45 ล้านคน แต่ความเป็นจริงแล้วมีผู้โดยสารเข้าสนามบินถึง 47 ล้านคน ทำให้ทุกวันนี้การจราจรทางอากาศมีปัญหาอย่างต่อเนื่องจนเกิดการดีเลย์แทบทุก วัน
 

       ครั้นจะไปลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเป็นไปได้อย่างที่คิด งานนี้รัฐบาลจึงต้องมาแก้ปัญหาด้วยการหันกลับมาใช้ดอนเมืองอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้สายการบินโลว์คอสต์หนีไปใช้สุวรรณภูมิเพราะปัญหาน้ำท่วม
       
       การให้พื้นที่กับสายการบินโลว์คอสต์เพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าสายการบินโลว์คอสต์จะช่วยให้การท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้น เพราะปัจจุบันสายการบินโลว์คอสต์ถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดการบินเพิ่มขึ้น โดยมีการสำรวจพบว่าสายการบินโลว์คอสต์ของไทยน่าจะมีส่วนแบ่งตลาด 20% ขณะที่ทางยุโรป อเมริกา สายการบินโลว์คอสต์มีมาร์เกตแชร์ 40-50% ไปแล้ว มีการประมาณการกันว่าสายการบินโลว์คอสต์จะยังครองเค้กก้อนนี้ได้อีกมาก
       
       การแข่งขันส่อเค้าคึกคัก
       
       การกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองของสายการบินโลว์คอสต์ภายใต้คำสั่งของ รัฐบาล จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดย “นกแอร์” เป็นสายการบินแรกที่กลับมาดอนเมือง พร้อมเข้าประจำการเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยังอยู่ในพื้นที่เดิมคืออาคาร 1 และประเดิมการตลาดของที่นี่ ของ “นกแอร์” ปล่อยบริการดีๆ เอาใจลูกค้า เริ่มด้วย ยิ้มสบาย ฟรี Nok WiFi ที่ให้บริการ ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่องหลังเช็กอิน เพียงล็อกอินด้วย Booking Number ของผู้โดยสาร, ยิ้มสนุก ฟรี Kids Zone ลานลูกนกที่มีเครื่องเล่นต่างๆ ให้เด็กๆ ได้สนุก และเฝ้าสังเกตเครื่องบินขึ้น-ลงอย่างใกล้ชิด, ยิ้มสะดวก ฟรี Shuttle Car บริการรถรับ-ส่ง สำหรับผู้โดยสารสูงอายุ เด็ก ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และพระภิกษุสงฆ์
       
       ส่วน “แอร์เอเชีย” และ “วัน-ทู-โก” แม้ยังไม่มีการตัดสินใจออกมาว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าคงต้องกลับมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเจ้าตลาดโลว์คอสต์ อย่าง “แอร์เอเชีย” เพราะเจ้านี้ทำตลาดแบบราคาหวือหวา เรียกว่ามีโปรโมชั่น 2 สัปดาห์ต่อครั้งกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ “แอร์เอเชีย” ยังมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ อีกหลายเส้นทาง เพียงผ่านไปได้ 3 เดือน ก็มีการเปิดเส้นทางไปแล้วหลายเส้นทาง
 

       วงการธุรกิจท่องเที่ยวเชื่อว่า การมีโอกาสกลับมาดอนเมืองอีกครั้งน่าจะยิ่งทำให้ “แอร์เอเชีย” ได้เปรียบคู่แข่ง เห็นได้จากการมีแผนที่จะขยายเส้นทางบินอีกมาก เพราะการจราจรทางอากาศที่ดอนเมืองจะไม่แออัดเท่ากับที่สุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ฐานการเงินและการตลาดในฐานะสายการบินชั้นนำระดับนานาชาติของภูมิภาคเอเชีย จะยิ่งทำให้ “แอร์เอเชีย” ขยายตัวได้ง่ายขึ้น และสำหรับฐานธุรกิจในประเทศไทย ผู้บริหารแอร์เอเชียก็มีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็น่าเชื่อว่าฐานกำลังเงินของ “แอร์เอเชีย” ยิ่งคล่องตัวขึ้นไปอีก
       
       “ทัศพล แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้ความเห็นว่า การจะย้ายเที่ยวบินกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายชัดเจน แต่ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ของภาครัฐว่ามีข้อเสนออะไรบ้าง มีภาระค่าใช้จ่ายหรือเงื่อนไขข้อเสนออะไรต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะสายการบินแอร์เอเชียมีเที่ยวบินต่างประเทศด้วย
       
       ด้าน “วัน-ทู-โก” งานนี้เลยต้องติดหางเลขให้ถูกย้ายไปด้วย แม้ที่ผ่านมา “วัน-ทู-โก” จะเคยพูดผ่านสื่อไปแล้วว่ายังไม่มีแนวคิดที่จะย้ายไปดอนเมืองในขณะนี้ โดยจะย้ายหรือไม่จะมองประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นหลัก ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็พอใจกับการใช้บริการที่สุวรรณภูมิ แต่จะแจ้งอีกครั้งภายในครึ่งปีว่าจะย้ายหรือไม่
       
       “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ได้สัมภาษณ์ “อุดม ตันติประสงค์ชัย” ซีอีโอของสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ และวัน-ทู-โก โดย สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ เพื่อชี้ชัดกันไปเลยว่า “วัน-ทู-โก” จะอยู่หรือไป พร้อมทิศทางและนโยบายการทำตลาดของ “วัน-ทู-โก” จากนี้ไป
       
       อุดม กล่าวว่า การให้ย้ายไปอยู่ดอนเมืองในครั้งนี้ไม่มีปัญหา แต่ต้องการความชัดเจนถึงจะย้ายกลับไป ซึ่งสายการบินเคยย้ายไปและย้ายกลับมาถึง 3 ครั้งแล้ว ซึ่งการย้ายแต่ละครั้งต้องใช้เงินมาก ถ้าหากรัฐบาลมีความชัดเจนแล้วก็พร้อมจะย้ายไปดอนเมืองก็จะทำการวางแผนบริหาร จัดการได้ และไม่ขัดข้อง แต่ขอความชัดเจนพร้อมทั้งรอดูเงื่อนไข รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้วย แต่เรื่องการย้ายคงต้องใช้เวลา เพราะไม่สามารถย้ายได้ทันที
       
       ส่วนการจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบเมื่อย้ายมาดอนเมืองนั้น “อุดม” มองว่า “ไม่ว่าเราจะอยู่สุวรรณภูมิหรือดอนเมืองเราก็ไม่ได้มองว่าเสียเปรียบหรือได้ เปรียบ แต่ถ้าเราอยู่สุวรรณภูมิเราก็ได้ลูกค้าต่อเครื่องด้วย หลังสงกรานต์เราคงบอกได้ว่าจะย้ายกลับดอนเมืองเมื่อไหร่ เพราะช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่วุ่นวาย เราต้องให้เวลาพนักงานในการไปหาบ้านพักใหม่ด้วย”
       
       นอกจากนี้ รัฐบาลต้องวางแผนเรื่องการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับผู้โดยสาร ทั้งคนไทย และต่างชาติ และรัฐต้องวางแผนพัฒนาองค์ประกอบการใช้ภายในสนามบิน เช่น ร้านค้าปลอดภาษีเพื่อสร้างบรรยากาศให้กลับคืนมา
       
       โดยการทำตลาดของสายการบินไม่ว่าจะอยู่สุวรรณภูมิหรือดอนเมืองก็ยังคง เหมือนเดิม คือ ชาร์เตอร์ไฟลต์ และสเกดดูลไฟลต์ แต่จะเน้นชาร์เตอร์ไฟลต์มากกว่า
       
       จุดสำคัญที่ทำให้สายการบินแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้ คือ ราคาค่าโดยสารที่คงที่ไม่ว่าจะซื้อตอนไหนก็ราคาเท่ากันหมด ไม่หวือหวา ราคาเป็นธรรม ขณะที่คนอื่นราคาไม่แน่นอน ซึ่งคนแรกอาจจะถูกแต่คนหลังๆ แพง
       
       “เรามีลูกค้าที่เป็นบริษัททัวร์ และเอเยนซีมากที่สุด เพราราคาของเราเป็นธรรม ทำให้จัดสรรได้ง่าย ถ้าเป็นแบบราคาหวือหวาเขากำหนดทัวร์ได้ยาก”
       
       นอกจากนี้ การบุกทำตลาดของสายการบินจะไม่ทำแบบก้าวกระโดด แต่จะมุ่งไปในสิ่งที่เด่น อย่าง ชาร์เตอร์ไฟลต์ไปประเทศจีนใน 15 เมือง ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็กและเป็นตลาดใหม่ ที่สำคัญสายการบินเป็นเจ้าแรกที่ทำตลาดนี้
       
       สำหรับการกลับมาดอนเมืองของสายการบินแอร์เอเชียในมุมของ “อุดม” แล้ว มองว่า โมเดลของแอร์เอเชียเป็นคนละแบบกับของตนเอง การจะบอกว่ากลับมาแล้วเขาได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เชื่อว่าไม่มีใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ เพราะแต่ละสายการบินมีฐานลูกค้าที่ต่างกัน และตลาดนี้ก็สามารถแบ่งกันได้ ซึ่งมีกระแสแว่วว่าเขาจะอยู่ที่อาคาร 2
       
       งานนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่า “แอร์เอเชีย” “นกแอร์” “วัน-ทู-โก” ใครจะได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการย้ายฐานทัพ แต่เชื่อว่าใครมีเส้นทางบินที่เยอะกว่าย่อมได้ประโยชน์อย่างแน่นอน
       
       ย้ายโลว์คอสต์ คืนดอนเมืองระส่ำ
       ทีจี -โอเรียนท์ไทยรอแผนรัฐช่วยชดเชย
       
       นโยบายย้ายสายการบินต้นทุน ต่ำกลับไปให้บริการที่สนามบินดอนเมืองไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้ 2 สายการบินนกแอร์และแอร์เอเชีย เดินหน้านำร่องไปก่อนแล้ว หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรประกาศเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประสบวิกฤตแออัดจนยากเยียวยา ล่าสุด “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ กลุ่มการบินไทยและกลุ่มโอเรียนท์ไทย”เมินนโยบายพร้อมตั้งเงื่อนไขรอรัฐเสนอ แผนระยะยาวชัดเจนกว่านี้ เหตุเพราะแบกรับภาระต้นทุนขนย้ายและไม่เอื้อต่อบริการระหว่างประเทศ
       
       งานนี้จึงกลายเป็นโจทย์หินที่หน่วย งานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล กระทรวงคมนาคม การบินพลเรือน และคณะกรรมการการท่าอากาศยานจะต้องนำไปขบคิด เพื่อกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ หรือ มาตรการช่วยเหลือหรือชดเชยให้สายการบินที่ต้องย้ายเที่ยวบินกลับมายังท่า อากาศยานดอนเมือง ในการประชุมบอร์ดทอท.วันที่ 29 มีนาคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
       
       ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 6 มีนาคมที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการของท่า อากาศยานดอนเมือง หลังปิดให้บริการมากว่า 4 เดือน จากภัยน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศนโยบายให้สายการบินต้นทุนต่ำย้ายกลับไปที่ท่าอากาศยาน ดอนเมือง ท่าทีของผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์อย่าง “นกแอร์”ตอบรับนโยบายอย่างชัดเจนก่อนใคร ขณะที่แอร์เอเชีย โอเรียนท์ไทย และเครือการบินไทยอย่างไทยสไมล์ ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์เห็นด้วยกับการย้ายครั้งนี้ แต่ไม่ได้สนองกลับนโยบายทันทีเหมือนเช่น นกแอร์ อีกทั้งมีเงื่อนไขเสนอกลับไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
       
       ประเดิมรายแรก การบินไทยหรือทีจี โดย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทฯปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ออกมายอมรับว่า ได้ได้รับผลกระทบจากกรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีปริมาณจราจรที่คับคั่งเกิน ปริมาณที่รองรับได้ ทำให้การให้บริการของการบินไทยมีอัตราความล่าช้าสูง แต่ขณะนี้การบินไทยไม่มีแผนย้ายสายการบินในประเทศมายังดอนเมืองแต่อย่างใด เนื่องจากลูกค้าหลักยังเป็นลูกค้าต่อเชื่อมจากต่างประเทศจึงจำเป็นต้อง ดำเนินการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก
       
       เช่นเดียวกัน สายการบินไทยสไมล์ ซึ่งเป็นโลว์คอสต์ แอร์ไลน์กำหนดเปิดให้บริการเดือนพฤษภาคมนี้ ก็ไม่มีแผนย้ายไปดอนเมืองเช่นกัน โดยตามแผนจะให้บริการรวม 20 ลำ เป็นการเช่าเครื่องระยะสั้น 9 ลำ ยกเว้นในอนาคต หากการบินไทยและนกแอร์มีการร่วมลงทุนทำสายการบินต้นทุนต่ำ จึงจะพิจารณาการย้ายการให้บริการมายังท่าอากาศยานดอนเมือง
       
       รายต่อมา แอร์เอเชีย โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ทัศพล แบเลเวลด์ ระบุว่า การจะย้ายเที่ยวบินกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายชัดเจน แต่ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ของภาครัฐว่ามีข้อเสนออะไรบ้าง มีภาระค่าใช้จ่ายหรือเงื่อนไขข้อเสนออะไรต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะสายการบินแอร์เอเชียมีเที่ยวบินต่างประเทศด้วย
       
       รายที่สาม โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ โดย ประธานที่ปรึกษาบริษัท อุดม ตันติประสงค์ชัย ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า หากนโยบายรัฐบาลชัดเจนเรื่องการใช้สนามบินดอนเมือง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้วางแผนบริหารจัดการได้ และไม่ขัดข้อง หากจะให้ย้ายกลับมา แต่ขอความชัดเจน พร้อมทั้งรอดูเงื่อนไข สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ด้วย หลังจากนี้จะวางแผนต่าง ๆ ได้ แต่เรื่องการย้ายคงต้องใช้เวลา เพราะไม่สามารถย้ายได้ทันที
       
       ขณะที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ น.ส.มนัสนันท์ ตันติประสงค์ชัย กล่าวว่า สายการบินโอเรียนท์ไทยได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางไปยัง ทอท.ว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อไหร่ เพราะการย้ายมาให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
       
       อย่างไรก็ตาม ท่าทีของรัฐมนตรีคมนาคม จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ได้ออกมายืนยันให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า เขาได้เจรจากับบางสายการบินแล้ว โอเรียนท์ไทย ซึ่งผู้บริหารฯไม่ขัดข้อง แต่กรณีภาระค่าใช้จ่ายรื้อย้ายต่าง ๆ จะมีการหารือกันอีกครั้งระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานการท่าอากาศยาน หรือ ทอท. ก่อน โดยความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า รัฐบาลต้องการสนับสนุน เพื่อจูงใจให้สายการบินที่ย้ายมา ต้องย้ายมาในเวลาที่เหมาะสมเช่นกัน
       
       นั่นหมายความว่า รัฐบาลอาจต้องมีข้อเสนอหรือมาตราการช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการสายการบิน เหล่านี้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการขนย้ายเครื่องบิน และค่าดำเนินการต่างๆในท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเบื้องต้นจากที่ปรากฎข้อมูลออกมาผ่านสื่อมวลชน ขณะนี้แผนปรับปรุงดอนเมืองของทอท.กำหนดไว้ประมาณ 60 ล้านบาท โดยแผนนี้หวังผลการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารจากปัจจุบัน 4 ล้านคนต่อปี เพิ่มอีก 7.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2556 ขณะที่ขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารที่ใช้อยู่ รองรับได้สูงสุดถึง 14.5 ล้านคน และยังมีอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 2 ที่รองรับได้อีก 10 ล้านคนต่อปีด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม ในแง่รายได้ของสนามบินดอนเมืองปัจจุบันนั้นมีประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่หากคิดจากตัวเลขทางบัญชีหลังหักค่าเสื่อมการใช้อาคารต่าง ๆ แล้ว ถือว่ายังขาดทุนอยู่ถึงปีละ 300 ล้านบาท ดังนั้นหากนโยบายจะให้ใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมือง ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และคุ้มค่าในการช่วยชะลอแผนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิได้อีกทางหนึ่งด้วย
       
       ขณะที่ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) วรเดช หาญประเสริฐ ให้ความเห็นด้วยว่า การย้ายสนามบินครั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละสายการบินด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม การประกาศย้ายสนามบินคืนกลับดอนเมืองในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบ การโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ซึ่งมีเที่ยวบินในประเทศครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรพ ี่ชายได้เคยประกาศนโยบายซิงเกิล แอร์พอร์ต (Single Airport )เมื่อครั้งที่เปิดบริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2549 พร้อมกับการตั้งเป้าหมายให้ศูนย์กลางการบินของเอเชีย
       
       โดยครั้งแรกของการประกาศนโยบายย้าย กลับมาที่ดอนเมืองเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเพื่อการขยายและพัฒนาประสิทธิภาพของดอนเมืองให้มีความคล่องตัว รองรับในระบบการอากาศยาน นอกเหนือจากการบินพาณิชย์แล้ว ทำให้มีการกลับมาเปิดให้บริการอีกรอบหนึ่งและกลับมาใช้ชื่อว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง เหมือนเช่นเดิม (อังกฤษ: Don Mueang International Airport) ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
       
       ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบาย รัฐบาล พร้อมทั้งการขาดแผนบริหารจัดการปัญหาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ตลอดเวลา 5 ปีของการเปิดให้บริการ ล้วนประสบปัญหารุมเร้าหลายประการ โดย 1ในปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดหลังจากเปิดบริการสนามบินสุวรรณภูมิ คือ ปัญหาสายการบินต้นทุนต่ำมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และลงทุนที่สุวรรณภูมิไม่คุ้ม ทำให้เกิดการร้องเรียนที่จะกลับไปใช้สนามบินดอนเมือง