แฉผลวิจัยท่องเที่ยว ไทยปลอดภัยต่ำสุด

Submitted by admin on

โพลสำรวจภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ระบุนักท่องเที่ยวให้ระดับความปลอดภัยต่ำสุด ขณะที่การตัดสินใจเดินทางเข้ามาเพราะชอบการต้อนรับ ส่วนเรื่องอะเมซิ่ง รั้งอยู่อันดับ 3

รายงานข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เผยผลสำรวจจากโครงการศึกษาภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่า 72.9% ของชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นการเดินทางมาเพื่อพักผ่อน ส่วนกลุ่มที่มาเพื่อเยี่ยมญาติมี 14.1% ขณะที่กลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจและประชุมมีสัดส่วน 8.6%

ในผลสำรวจยังพบว่า ในสายตานักท่องเที่ยวยกให้ไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาที่มีภาพลักษณ์โดดเด่น แต่กลับไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดให้เดินทางมาประเทศไทย เพราะ 5 อันดับแรกที่ตัดสินใจมาตามลำดับ ได้แก่ ชื่นชอบการต้อนรับ (Welcoming), การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี (Friendly), ความตื่นตาตื่นใจ (Amazing) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่ ททท.ส่งเสริมมาต่อเนื่อง, ความโดดเด่นในฐานะประเทศที่มีความสุข (Happy) และอันดับที่ 5 คือ ความน่าตื่นเต้น (Exciting)

นอกจากนั้นยังสำรวจเหตุผลที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ตัดสินใจหรือเลื่อนเดินทางมาเที่ยวไทย มี 3 ปัจจัยตามลำดับ คือ ปัจจัยภาพลักษณ์เชิงลบจากวิกฤตการเมือง ภัยธรรมชาติ การค้าประเวณี มีผลต่อการตัดสินใจชะลอหรือแม้กระทั่งยกเลิกการเดินทาง ข้อนี้จะต้องอาศัยการแก้ไขภาพลักษณ์ในระดับประเทศ

ปัจจัยที่ 2 คือด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ เช่น ไม่มีเวลาระยะเดินทางนาน งบประมาณไม่พอ โดยประเทศกลุ่มตะวันตกจะให้เหตุผลเรื่องระยะการเดินทางนานมากที่สุด วิธีแก้ไข จะต้องใช้กลยุทธ์ด้านโปรโมชัน ส่งเสริมการขาย และปัจจัยเรื่อง “ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายแรกของการท่องเที่ยว” (Thailand is not dream destination) เพราะภาพลักษณ์ที่นำเสนอออกไป ยังไม่มีความดึงดูดเพียงพอมาจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดความรู้ความเข้าใจเพียงพอกับประเทศ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะสื่อสารภาษาไม่ได้ เป็นต้น

ผลดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ภาพความเข้มแข็งของไทย 6 กลุ่มในสายตานักท่องเที่ยวที่ให้คะแนนประเทศไทยเรื่องความปลอดภัย (Safety and Security) ในเกณฑ์ต่ำที่สุด ไม่ว่าจะสำรวจจากกลุ่มที่มาครั้งแรก หรือมาซ้ำ ค่าเฉลี่ยก็ใกล้เคียงกัน โดยให้เหตุผลว่าชีวิตยามราตรีไม่มีความปลอดภัยนัก ให้คะแนนที่ 2.55 และรู้สึกว่ายังขาดเรื่องการบริการสายด่วนที่นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งคะแนนเพียง 2.82 และให้ค่าความปลอดภัยของระบบคมนาคมให้เพียง 2.81

และผลการสำรวจแบบเจาะลึก 14 ประเทศที่ยังระบุตรงกันว่า ความปลอดภัยในไทยน้อยที่สุด นักท่องเที่ยวแสดงความกังวล เพราะเห็นได้จากข้อมูลที่ระบุว่า ความรู้สึกด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวลดลง เมื่อเทียบกับความคิดเห็นของผู้ที่ไม่เคยมาเยือน นำมาซึ่งข้อสรุปว่า ประสบการณ์ตรงนั้นส่งผลต่อความคิดเห็นด้านความปลอดภัยมากกว่าการเห็นจากสื่อ

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอจากผู้ร่วมวิจัยว่า การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศแบบเดียวไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น แนวทางส่งเสริมการตลาดในยุคต่อไปควรเน้นศึกษาพฤติกรรมในเชิงลึกว่าแต่ละกลุ่มมีความเหมือนหรือต่างอย่างไร ขณะเดียวกัน ในด้านเจ้าของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเองจะต้องรักษาประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไว้เพราะเป็นปัจจัยที่สะท้อนความเป็นไทย และสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่นชอบยังเป็นชายหาดที่สวยงาม (Beautiful Beach) หมวดกิจกรรม คือ สปา และบริการทางด้านสุขภาพ (Variety of spa and wellness offers) ด้านอาหาร ชื่นชอบผลไม้ตามฤดูกาล (Variety of tropical fruits) และอาหารท้องถนน (Street Food) รวมถึงความคุ้มค่าเงิน (Value for money)

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวจัดเก็บจากกลุ่มเป้าหมาย 14 ประเทศที่นิยมมาประเทศไทยรวมกว่า 3,640 ตัวอย่าง ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี สวีเดน และ อิตาลี ผลการสำรวจครั้งนี้จะนำไปประกอบการจัดทําแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศให้มีประสิทธิภาพในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น

Manager Online