"แอร์พอร์ตลิงก์" เปิดหวูดวิ่งเป็นทางการ วันนี้ ICE ห่วงปัญหาบริการ-เก็บเงิน

Submitted by admin on

"ซาเล้ง" เตรียมเปิดหวูด "แอร์พอร์ตลิงก์" วิ่งเป็นทางการ วันนี้ "ICE" ให้ใบรับรองไม่เต็ม 100% เพราะบริการยังไม่สมบูรณ์ ไร้นิติบุคคลรองรับความรับผิดชอบความปลอดภัย “ร.ฟ.ท.” ยอมรับ ยังไม่ได้ตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด แต่ถูกฝ่ายการเมืองเร่งรัด ยันระบบมีความปลอดภัยเปิดให้บริการได้ แม้ว่าจะยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่กระทบบริการ ห่วงปัญหาระบบตั๋วโดยสาร ยังใช้การ์ดแข็งโบราณของการรถไฟ ไม่ใช่สมาร์ทการ์ดแบบบีทีเอส ยอมรับ รายได้อาจมีการรั่วไหลได้

มีรายงานข่าวว่า วันนี้ จะมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารในเมือง) อย่างเป็นทางการ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้บริหารได้ยืนยันว่า แอร์พอร์ตลิงก์มีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว และที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (Independent safety and system Certification Engineer: ICE) ได้ออกใบรับรองความปลอดภัย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา

สำหรับการเปิดเดินรถตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2553 (วันนี้) จะเริ่มตั้งแต่ 06.00น.- 24.00 น.โดยนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเป็นประธานเปิดขบวนแรก โดยเก็บอัตราค่าโดยสารพิเศษโดยรถไฟฟ้าธรรมดา (city line) รับ-ส่งผู้โดยสารทุกสถานี ค่าโดยสาร ที่ 15 บาทตลอดสาย

ส่วนรถไฟฟ้าด่วน (express) วิ่งตรงไปยังสนามบินสุวรรณภูมิจะเก็บค่าโดยสาร 100 บาทก่อนจากค่าโดยสารที่กำหนด 150 บาทต่อที่นั่งเนื่องจากยังไม่ให้บริการระบบเช็คอินกระเป๋าที่มักกะสัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการก่อสร้างทางเชื่อมแอร์พอร์ตลิ้งก์กับ รถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีพญาไท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนกันยายน 2553

ด้านผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวยืนยันกับสื่อมวลชนว่า ระบบมีความปลอดภัยและสมบูรณ์พอที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ที่มีการเก็บค่าโดยสารได้ โดยส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์นั้น จะต้องมีการแก้ไขในอนาคตต่อไป รวมถึงความสมบูรณ์ขององค์กรที่จะบริหารโครงการด้วย เนื่องจากการจัดตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.เพื่อดำเนินการด้านการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย

"แม้ ICE จะให้การรับรองโครงการไม่ 100% และการเปิดเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เชิงพาณิชย์วันที่ 23 ส.ค.53 ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังไม่สามารถให้บริการระบบเช็คอินกระเป๋าที่สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (City Air Terminal : CAT) มักกะสันได้ แต่จะไม่กระทบต่อการให้บริการและการดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร"

ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ทำประกันเฉพาะในส่วนของผู้โดยสารแบบชั่วคราวไว้ก่อน โดยมีวงเงินประกัน 2 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 5 เดือน ส่วนประกันที่ครอบคลุมทั้งทรัพย์สินและผู้โดยสารนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อกรมธรรม์ ซึ่งมีวงเงินรวม 25 ล้านบาทต่อปี

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ICE ให้การรับรองระบบการเดินรถซึ่งได้มีการทดสอบระบบ (Trial Run) มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 และยืนยันว่า มีความพร้อมในการให้บริการ ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ 500 ล้านบาทเป็น 2,000 ล้านบาทนั้น ICE ได้ให้การรับรองในส่วนของบุคลากรที่ ร.ฟ.ท.ว่าจ้างให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับสมัครให้ว่าคนที่รับเข้ามา มีความสามารถเพียงพอที่จะให้บริการได้

ขณะที่ยังมีความกังวลว่า ICE ให้การรับรองความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของแอร์พอร์ตลิงก์แบบมีเงื่อนไข ซึ่งหลังจากนี้ หากส่วนใดที่ ICE ไม่ได้ให้การรับรองแล้วเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้น ร.ฟ.ท.จะต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งหลักในการรับรองความปลอดภัยของ ICE นั้น จะรวมทั้งระบบการเดินรถ ระบบความปลอดภัย และองค์กรที่เป็นผู้บริหารการเดินรถ (บริษัทลูกและบุคลากร)

ทั้งนี้ ในทางปฎิบัติที่ผ่านมาร.ฟ.ท.ว่าจ้าง ICE เข้ามาทำงานค่อนข้างล่าช้า ทำให้งานหลายอย่างมีการดำเนินการไปแล้ว เมื่อมีการตรวจพบภายหลังว่าไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่สามารถแก้ไขได้ ICE จึงไม่สามารถให้การรับรองได้ จึงเป็นที่มาของการรับรองแบบมีเงื่อนไข

ส่วนเหตุผลหลัก คาดว่าเป็นเรื่องทางนโยบายที่ต้องการให้เร่งเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ โครงการมีปัญหาทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน และมีการเลื่อนเปิดมาแล้วหลายครั้ง ทำให้การเปิดเชิงพาณิชย์วันที่ 23 สิงหาคม 2553 นอกจากระบบเช็คอินกระเป๋าที่มักกะสันที่ยังเปิดไม่ได้แล้ว ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection System) ก็ยังไม่มี

มีการตั้งข้อสังเกตุว่า การเปิดเดินรถในวันนี้ อาจมีปัญหาเรื่องระบบตั๋วและการชำระเงิน ซึ่งตั๋วโดยสารรถแอร์พอร์ตลิงก์ที่นำออกมาจำหน่วย จะใช้กระดาษรูปแบบเดียวกับตั๋วรถไฟของ ร.ฟ.ท. ไม่ได้เป็นระบบสมาร์ทการ์ดเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทั้งที่จอดรถและการเดินทางเข้าไปยังสถานีของแอร์พอร์ตลิ้งก์ยังไม่สะดวก

ผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ยอมรับว่า ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ จะมีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการขายตั๋วโดยผู้โดยสารจะต้องผ่านช่องเฉพาะ ซึ่งจะมีการตรวจนับการขายตั๋วและการผ่านเข้าสู่ระบบอย่างแม่นยำ จึงยังเป็นที่น่ากังวลว่า จะมีปัญหาเรื่องการรั่วไหลของรายได้หรือไม่ เมื่อระบบตรวจสอบไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ถนนเข้าสู่สถานีก็ไม่ได้รับการปรับปรุง ระบบขนส่งเข้าสู่สถานีก็ไม่มี

Manager Online