ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมบารมี ที่ "ศาลเจ้าพ่อเสือ"

Submitted by admin on

เชื่อว่าหลายๆ คนคงต้องมีช่วงเวลาขาลงของชีวิตกันบ้าง บางคนอาจจะอกหักรักคุด การเงินไม่รุ่ง การงานก็ร่วงดิ่งเหว โดนเจ้านายบ่นอยู่ทุกวี่ทุกวัน จะติดต่องานการทำธุรกิจอะไรก็ดูจะมีอุปสรรคไปเสียหมด แค่จะออกไปซื้อข้าวกินหน้าปากซอยก็ยังโดนหมาไล่กัดเอาซะอย่างนั้น

ที่พูดมาทั้งหมดนั้นก็เป็นชีวิตของฉันในช่วงนี้เองนั่นแหละ ดวงตกขนาดนี้ก็มีคนแนะนำว่า ให้ไปไหว้พระเสียบ้างก็คงจะดี แม้ว่าอาจจะดูไปในทางไสยศาสตร์เสียหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเรายามที่ไม่มีที่พึ่งได้ดีเหมือนกัน ซึ่งก็มีคนแนะนำฉันว่า ให้ลองไปไหว้ที่ "ศาลเจ้าพ่อเสือ" ดู เพราะที่นี่เขามีชื่อในเรื่องของการไหว้เพื่อเสริมอำนาจบารมี ในวันนี้ฉันจึงเดินทางมาที่ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อมาไหว้ขอพรจากท่าน ไม่ได้หวังจะให้ตัวเองมีบารมีมากมาย แค่ขอให้เป็นชีวิตขาขึ้นกับเขาบ้างก็พอ

แต่จะมาไหว้อย่างเดียวก็ใช่ที่ ต้องมาชมศาลเจ้าพ่อเสือที่ถือว่าเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม แต่ก่อนอื่นมาว่าด้วยเรื่องประวัติของศาลก่อนดีกว่า ศาลเจ้าพ่อเสือนี้เป็นศาลเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

ประวัติของศาลเจ้าพ่อเสือนั้นมีความเกี่ยวพันกับวัดมหรรณพารามซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันด้วย โดยมีเรื่องเล่ากันมาว่า ในสมัยก่อนบริเวณด้านหลังวัดมหรรณพารามยังคงรกร้างเป็นป่าดงมีเสืออาศัยอยู่ และใกล้ๆ กันนั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมีแม่ลูกคู่หนึ่งชื่อยายผ่องกับนายสอนอาศัยอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งลูกชายเข้าป่าไปหาอาหารมาให้แม่และไปเจอซากกวางที่ถูกเสือกัดตายใหม่ๆ ยังมีเนื้อติดอยู่แสดงว่าเสือยังกินไม่หมด ลูกชายจึงอยากจะได้เนื้อกวางไปฝากแม่สักชิ้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฉือนเนื้อกวางมา

แต่ขณะที่กำลังจะผละจะซากกวางนั้น เสือก็โผล่มาพอดี คนกับเสือจึงมีการต่อสู้กัน เสือโดนมีดแทงที่ต้นคอและกลางแสกหน้า ทำให้บ้าเลือดและดุร้ายกัดนายสอนจนแขนขาด ส่วนนายสอนก็หนีลงไปในหนองน้ำ เมื่อเสือไปแล้วจึงกระเสือกกระสนกลับบ้าน และไปนอนสลบอยู่ใกล้ๆ บ้านของตัวเอง

ฝ่ายยายผ่องก็เป็นห่วงลูกจนเป็นลมไปหลายครั้ง จนเมื่อมีคนมาตะโกนบอกว่าลูกชายกลับมาแล้วจึงได้ออกไปดู จึงเห็นว่าลูกชายได้รับบาดเจ็บหนัก แต่ยังมีสติส่งเนื้อกวางให้แม่ และเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง จากนั้นก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ถึงแก่ความตาย

ยายผ่องเสียใจมาก จึงเดินทางไปที่อำเภอ ขอร้องให้นายอำเภอจับเสือที่กัดลูกของตนเองมาลงโทษ ฝ่ายนายอำเภอตอนแรกก็นึกแปลกใจที่มีคนมาแจ้งจับเสือ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวจากยายผ่องแล้วก็เกิดความสงสารและเห็นใจ จึงรับปากว่าจะจับเสือมาลงโทษ โดยมอบหน้าที่ให้ปลัดโตเป็นคนจัดการ

คณะของปลัดโตออกตามล่าเสือมาหลายวันแต่ก็ไม่เจอเสียที ปลัดโตจึงไปกราบขอพรพระที่วัดมหรรณพาราม โดยได้ไปไหว้หลวงพ่อบุญฤทธิ์ในพระอุโบสถ และหลวงพ่อพระร่วงในพระวิหาร กราบขอให้พระช่วยให้จับเสือให้ได้ อีกทั้งยังขอให้หลวงพ่อช่วยกล่อมใจเสือให้เชื่องอีกด้วย จากนั้นจึงเดินอ้อมไปทางหลังวัด และนั่งหลับตาพักอยู่ใต้ต้นไม่ใหญ่ เมื่อลืมตาขึ้นจึงเห็นเสือนอนหมอบอยู่ตรงหน้า ท่าทางเชื่อง ไม่มีความดุร้าย คล้ายกลับยอมให้จับโดยดี จึงเอาเชือกผูกคอเสือแล้วจูงไปที่ว่าการอำเภอเพื่อตัดสินโทษ

การตัดสินโทษนั้นมีบทสรุปว่า เสือถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งเมื่อฟังคำตัดสินแล้วเสือตัวนั้นก็ลงนอนหมอบลงกับพื้น หลับตาและมีน้ำตาไหลลงมา สร้างความสงสารให้แก่คนที่ได้เห็น ยายผ่องจึงขอชีวิตเสือตัวนี้จากนายอำเภอ และขอให้ยกเสือตัวนี้ให้เป็นลูกแทนลูกชายที่ตายไป

เสืออยู่กับยายผ่องต่อมาอีกหลายปีก่อนที่ยายผ่องจะตายไป ชาวบ้านช่วยกันทำเชิงตะกอนเผาศพยายผ่อง และขณะที่ไฟกำลังโหมลุกเต็มที่ เสือซึ่งเศร้าซึมมาหลายวันก็วิ่งวนไปรอบๆ กองไฟ แล้วจึงกระโจนเข้ากองไฟที่กำลังลุกตายตามยายผ่องไป ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างศาลขึ้นมาบริเวณใกล้กับวัดมหรรณพาราม ปั้นรูปเสือไว้บนแท่นและเอากระดูกเสือบรรจุไว้ในแท่นนั้น พร้อมทั้งอัญเชิญดวงวิญญาณเสือให้มาสิงสถิตอยู่ในศาล และเรียกชื่อว่าศาลเจ้าพ่อเสือ

ว่ากันด้วยเรื่องประวัติของศาลเจ้าพ่อเสือมาเสียยาว คราวนี้ก็ได้เวลาเข้าไปไหว้สักการะเจ้าพ่อเสือกันเสียที โดยสถานที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อเสือในปัจจุบันนี้ เป็นสถานที่ตั้งใหม่ซึ่งย้ายมาที่ถนนตะนาวอย่างที่เห็นในตอนนี้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะขยายถนนบำรุงเมือง จึงได้ย้ายศาลมาตั้งใหม่ที่ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว

ศาลเจ้าพ่อเสือนี้ เป็นศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่งที่มีผู้คนมาไหว้มากมาย ผู้คนที่ศรัทธาและควันธูปด้านในแทบไม่เคยจางหาย โดยเฉพาะในช่วงวันตรุษจีน และช่วงเทศกาลกินเจที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนี้ เรียกว่าถ้าไปไหว้ในช่วงเวลานั้นก็คงต้องเสียน้ำตาเพราะแสบตาจากควันธูปภายในศาลเป็นแน่

คนส่วนมากที่มากราบไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ก็เพื่อมาขอพรในเรื่องของการงาน การเงิน และโชคลาภต่างๆ แต่คนที่ไม่คุ้นเคยกับศาลเจ้า หรือเพิ่งเคยมาไหว้เป็นครั้งแรก ก็อาจจะงงๆ กับธรรมเนียมการไหว้ ไม่รู้จะไหว้องค์ไหนก่อน เพราะมีเทพหลายองค์ทีเดียวภายในศาล หรือจะปักธูปปักเทียนตรงไหนก่อนดี เรื่องนี้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะบริเวณหน้าศาลเจ้าก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายเครื่องเซ่นไหว้เจ้าพ่อเสือ เมื่อเราไปซื้อเครื่องเซ่นไหว้จากร้านของเขา บางร้านจะถามว่าไหว้เป็นหรือไม่ หากไหว้ไม่เป็นก็จะมีคนพาเข้าไปและแนะนำวิธีการไหว้ต่างๆ ให้

ฉันเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยมาศาลเจ้าพ่อเสือครั้งแรก จึงขอให้แม่ค้าที่ร้านช่วยพาเข้าไปที แม่ค้าก็แสนจะใจดี พาเข้าไปไหว้โดยไม่เกี่ยงงอน และยังช่วยอธิบายข้อสงสัยต่างๆ ของฉัน ตั้งแต่เรื่องวิธีการสักการะเทพเจ้าต่างๆ ที่จะต้องไหว้ด้วยธูป 18 ดอก เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง หลังจากจุดเทียนแล้วก็จุดธูปทั้ง 18 ดอก แบ่งไปปักที่กระถางธูปหน้าเทวดาฟ้าดิน จากนั้นก็ปักที่กระถางธูปของเจ้าพ่อใหญ่ หรือตั่วเล่าเอี๊ยกง ประธานในศาล เจ้าพ่อเสือ เทพเจ้าโชคลาภ หรือไฉ่ซิ้งเอี๊ย และทหารสองนายด้านหน้าประตูศาล

ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือนั้นจะมีเครื่องเซ่นต่างหาก โดยจะประกอบด้วยหมูสามชั้น ไข่ดิบ และข้าวเหนียวหวาน พวงมาลัย และกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับเผาไหว้เจ้า เมื่อไหว้ขอพรจากเจ้าพ่อเสือ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการงาน ใครอยากให้การงานของตัวเองรุ่ง หรืออยากให้อุปสรรคต่างๆ ในชีวิตหมดไป ก็อธิษฐานขอกับเจ้าพ่อเสือได้ จากนั้นก็ยื่นเครื่องไหว้เหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่บริเวณนั้น ซึ่งเขาก็จะรับเอาเครื่องไหว้นั้นไปยื่นใกล้ๆ กับปากของเจ้าพ่อเสือเหมือนเป็นการถวาย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะพูดว่า “เฮงๆๆ” แก่เรา แล้วก็ส่งกระดาษกลับคืนมาให้เอาไปเผาตรงด้านหน้าศาล เป็นอันเสร็จพิธีไหว้

ไหว้เสร็จแล้วก็อย่าลืมชมความงามต่างๆ ในศาลเจ้าก่อนกลับ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายในและโบราณวัตถุที่ประดับอยู่ภายในศาลเจ้านั้น เช่น ลวดลายปูนปั้นหรือกระเบื้องเคลือบสี หรือกระถางธูปต่างๆ บางชิ้นมีอายุกว่า 100 ปีเลยทีเดียว จึงถือว่าสถานที่แห่งนี้มีคุณค่าทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม และมีคุณค่าทางด้านจิตใจแก่ผู้คนที่ศรัทธาอีกด้วย

"ศาลเจ้าพ่อเสือ" ตั้งอยู่ที่ 468 ถ.บ้านตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าไปสักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-17.30 น. มีรถประจำทางสาย 10, 12, 19, 35, 42, 56, 96 ผ่าน

Manager Online