เวียดนามดับฝัน AirAsia ตั้งสายการบินใหม่

Submitted by admin on

ผู้จัดการรายวัน-- ข่าวการจัดตั้งสายการบินโลว์คอสท์ร่วมกันระหว่างแอร์เอเชีย (AirAsia) กับรัฐวิสาหกิจการต่อเรือขนาดใหญ่ในเวียดนามแพร่สะพัดออกไปข้ามเดือน สร้างทั้งความตื่นเต้นและตื่นตระหนกขึ้นในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาค มีการประกาศจัดซื้อเครื่องบินลอตใหญ่ล่วงหน้า แต่แล้วความฝันของแอร์เอเชียก็สลาย

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แผนการร่วมทุนจัดตั้งสายการบินวินาเอเชีย (VinaAsia) ระหว่างแอร์เอเชียจากมาเลเซียกับวินาชิน (Vietnam Shipbuilding Industry Group) ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนาม แม้ว่าฝ่ายหลังจะถือหุ้นใหญ่ถึง 70% ก็ตาม สำนักข่าวเวียดนามเน็ตรายงานเรื่องนี้ในวันอังคาร (23 ต.ค.)

หลายฝ่ายกล่าวว่าสายการบินแห่งชาติ เวียดนามแอร์ไลนส์ แปซิฟิกแอร์ไลนส์ ไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสาร ไม่มีการแข่งขันจริงๆ จังๆ ทำให้ต้องการสายการบินแห่งใหม่ แต่แล้วสองสายการบินเจ้าถิ่นก็เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการล้มแผนของแอร์เอเชียในครั้งนี้

เมื่อต้นปีนี้ทางการเวียดนามอนุญาตให้สายการบินแควนตัส (Qantas) จากออสเตรเลียเข้าซื้อหุ้น 30% ในแปซิฟิกแอร์ไลนส์ และ เปิดเป็นสายการบินต้นทุนต่ำแห่งแรกของประเทศ

แต่แปซิฟิกฯ ที่ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด และ ยังอ่อนด้อยมากหากเทียบกับแอร์เอเชีย ซึ่งในปัจจุบันเป็นเจ้าแห่งน่านฟ้าสายการบินต้นทุนต่ำแห่งภูมิภาค

นักวิเคราะห์แน่ใจว่าแผนการของแอร์เอเชียล้มเหลวก็ในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้เซ็นอนุมัติแผนการก่อตั้งสายการบินแห่งที่สามขึ้นมาประกอบด้วยผู้ถือหุ้นในเวียดนามล้วนๆ

รัฐบาลได้อนุญาตให้สายการบินวาสโก้ (Vietnam Air Service Co) ซึ่งเป็นสายการบินเช่าเหมาลำของรัฐบาล บริษัท Vietnam Aeroplane Chartering Co และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาและการลงทุนเวียดนาม (Bank for Investment and Development) ร่วมเป็นแกนในการก่อตั้งสายการิบนแห่งใหม่

ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของสายการบินดังกล่าว แต่วงในกล่าวกันว่า จะเป็นสายการบินประเภทต้นทุนต่ำเพื่อแข่งขันกับเวียดนามแอร์ไลนส์ กับแปซิฟิกแอร์ไลนส์

สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่าจนถึงปัจจุบันมีนักลงทุนอย่างน้อย 5 รายยื่นขออนุมัติต่อรัฐบาลเวียดนามเพื่อจัดตั้งสายการบิน แต่การที่รัฐบาลคว่ำแผนการของแอร์เอเชีย-วินาชิน จึงทำให้โอกาสที่จะมีสายการบินใหม่อีกหลายแห่งดูมืดมนไปด้วย

ตามแผนการดังกล่าว ฝ่ายแอร์เอเชียจะเข้าถือหุ้น 30% ในวินาเอเชีย โดยจะมีเงินจดทะเบียนทั้งสิ้น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แอร์เอเชียก็เช่นเดียวกันกับสายการบินโลว์คอสท์อื่นๆ ที่บินเข้าสู่เวียดนามในปัจจุบัน ทุกแห่งแสดงความประสงค์จะบินเข้านครโฮจิมินห์ให้ได้ และ แอร์เอเชียได้เพียรพยายามในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2548 พร้อมๆ กับการเริ่มแผนการเปิดบินเข้าสู่กรุงฮานอย

นครโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางธุรกิจของเวียดนามและเป็นศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งกำลังจะมีการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ที่ทางการเวียดนามหวังจะให้มีความใหญ่โตเทียบชั้นกับสนามบินสุวรรณภูมิของไทย หรือ ชางงีในสิงคโปร์

สายการบินโลว์คอสท์แห่งใดสามารถยึดหัวหาดโฮจิมินห์ได้ ก็จะมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่ารายอื่นๆ ในนครใหญ่ที่เวียดนามวางแผนจะให้ศูนย์การบินอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซีอีโอของสายการบินแปซิฟิกฯ นายเลืองฮว้ายนาม (Luong Hoai Nam) เปิดเผยว่า แอร์เอเชียได้เคยเสนอแผนการเข้าซื้อกิจการ 30% ในแปซิฟิกฯ มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแผนการร่วมทุนมีความสลับซับซ้อนเกี่ยวกับการตีค่าทรัพย์สินต่าง จึงล้มเลิกไป

ถ้าหากการก่อตั้งวินาเอเชียประสบความสำเร็จ แอร์เอเชียก็จะสมประสงค์ทุกอย่าง รวมทั้งได้เวียดนามเป็นฐานการบินต้นทุนต่ำแห่งใหม่ ในการรุกคืบต่อไปยังตลาดใหญ่จีนด้วย เจ้าหน้าที่ของแอร์เอเชียกล่าวถึงเรื่องนี้ในเดือน ก.ย. หลังการเซ็นเอ็มโอยูกับวินาชิน

ผู้บริหารของแปซิฟิกฯ รายเดียวกันนี้กล่าวอีกว่า ตัวเงินที่แอร์เอเชียเสนอให้แก่แปซิฟิกฯ นั้นนับว่าต่ำมากหากเทียบกับคู่แข่งรายอื่น รวมทั้งแควนตัสด้วย

ไม่เพียงแต่แอร์เอเชียเท่านั้นที่ต้องการเข้ายึดหัวหาดการบินในเวียดนาม ก่อนหน้านี้ในปี 2547-2548 กลุ่มเทมาเสก (Temasek Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ก็เคยเจรจาเพื่อควบรวมกิจการแปซิฟิกแอร์ไลนส์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน

แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีกล่าวว่า เงื่อนไขหนึ่งที่เวียดนามตกลงกับแควนตัส ในการเข้าร่วมทุนกับแปซิฟิกฯ คือ จะต้องไม่อนุญาตให้เปิดสายการบินแห่งใหม่เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการเซ็นสัญญา

นายเหวียนสีฮุง (Nguyen Sy Hung) ประธานและผู้อำนวยการใหญ่สายการบินเวียดนามกล่าวเมื่อวันอังคาร (22 ต.ค.) ว่า ได้ประท้วงแผนการก่อตั้งวินาเอเชีย โดยให้เหตุผลว่าเวียดนามยังไม่ควรให้ใบอนุญาตง่ายเกินไป ในอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการค้าเสรีขณะที่อุตสาหกรรมและบริการในประเทศเพิ่งจะเข้าสู่การแข่งขันใหม่ๆ

นายฮุงกล่าวอีกว่าแม้แต่เวียดนามแอร์ไลนส์เองก็ยังไม่ได้รับสิทธิให้บินตรงต่อจากกรุงปักกิ่งไปยังกรุงมอสโกแม้จะขออนุญาตมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม ทำให้ต้องเปิดเที่ยวบินตรงจากกรุงฮานอยไปยังเมืองหลวงของรัสเซีย ซึ่งมีต้นทุนสูง

กระทั่งสหรัฐฯ ที่มีนโยบายเปิดน่านฟ้า ก็ยังไม่ยอมอนุญาตให้สายการบินต่างชาติบินข้ามประเทศ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย นายนามกล่าว

พิษสงของแอร์เอเชียในอดีตนั้น เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้สายการบินเวียดนามดิ้นสุดแรงเกิด หาทางยับยั้ง

แอร์เอเชียเปิดตัวเมื่อปี 2544 โดยเริ่มให้บริการในมาเลเซีย ในปีต่อมาก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มแข่งขันแบบติดพันกับมาเลเซียแอร์ไลนส์ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ทำให้ฝ่ายหลังสูญรายได้ไปถึง 500 ล้านดอลลาร์และเกือบล้มละลายในปีนั้น

ผลก็คือ รัฐบาลมาเลเซียต้องหันไปจัดการกับมาเลเซียแอร์ไลนส์เสียใหม่ ลดระดับการให้บริการลง ซึ่งรวมทั้งต้องตัดเส้นทางบินระหว่างประเทศลงถึง 23 เส้นทางจาก 110 เหลือเพียง 87 เพื่อให้อยู่ได้

หันไปมองในเวียดนาม เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการองค์การบริหารการบินพลเรือนเวียดนามได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคม ให้เน้นการอนุญาตเปิดสายการบินในประเทศที่มีชาวเวียดนามเป็นเจ้าของแทนการอนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติเอาไว้ชั่วคราว

อย่างไรก็ตามข่าวคราวการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำระหว่างแอร์เอเชียกับวินาชินนั้นได้รับการต้อนรับจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ใช้บริการและธุรกิจต่างๆ ที่อยากจะเห็นการแข่งขันที่ยุติธรรม และ ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

แปซิฟิกแอร์ไลนส์กับแควนตัสได้ทำความตกลงร่วมทุนกันมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีนี้ แต่จนกระทั่งบัดนี้ยังมีเครื่องบินให้บริการอย่างจำกัด และ ไม่ได้เสนอตั๋วที่ราคา "ต่ำจริง" อย่างคำโฆษณา

ขณะเดียวกันนายเจฟ ดิกสัน (Geof Dixon) ซีอีโอของสายการบินแควนตัสก็กล่าวว่า ยังจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการจัดโครงสร้างสายการบินแปซิฟิกแอร์ไลนส์เสียใหม่

หลังจากข่าวคราวการเซ็นเซ็นเอ็มโอยูแพร่สะพัดออกไปในปลายเดือน ส.ค. ผู้บริหารของแอร์เอเชียกับวินาชิน เปิดแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์สองฝ่ายประกาศในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ยืนยันแผนการก่อตั้งสายการบินวินาเอเชีย โดยอ้างว่าได้รับความเห็นชอบจากทางการเวียดนามแล้ว

ดาโต๊ะโทนี เฮอร์นันเดซ (Tony Hernandez) ซีอีโอของของแอร์เอเชียกล่าวว่า การเซ็นบันทึกช่วยความจำฯ มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.สองฝ่ายมีกำหนดจะเซ็นสัญญาร่วมทุนอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ก.ย. แต่จากนั้นข่าวคราวก็เงียบหายไป

ผู้บริหารของแอร์เอเชียได้ประกาศจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A320 ใหม่เอี่ยมอีกจำนวน 25 ลำ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยสายการบินโลว์คอสท์แห่งใหม่ในเวียดนามจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน ก.ค.2551

ปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องบินใช้งานจำนวน 50 ลำ เป็นเครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 15 ลำ กับ โบอิ้ง 737-300s อีก 35 ลำ แต่เมื่อปี 2548 แอร์เอเชียได้เซ็นสัญญาซื้อแอร์บัส A320 รวดเดียวจำนวน 150 ลำ กำหนดส่งมอบในปี 2552

การสั่งซื้อครั้งใหม่นี้จะทำให้แอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเครื่องบินรวมประมาณ 200 ลำมากกว่าสายการบินขนาดใหญ่ในเอเชียทุกสายในปัจจุบัน และ ยังเป็นสายการบินที่มีเครื่องแอร์บัส A320 ในฝูงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก.

Manager Online