ศึกช้างชนช้าง

Submitted by admin on

ผู้จัดการรายสัปดาห์ - *สงครามการตลาดของอุตสาหกรรมการบินภูมิภาคเอเชีย เข้มข้นดุเดือดขึ้นตามลำดับ *เมื่อเส้นทางระยะไกลข้ามทวีป คือจุดขายใหม่ของโลว์คอสต์ *ตลาดเอเชียจึงกลายเป็นเค้กก้อนโตที่ถูกหมายปอง *ศึก"แอร์เอเชีย"ปะทะ "เจ็ตสตาร์"ใครคือเจ้าตลาดตัวจริง!

ถึงจะตื่นตัวช้าไปสักนิด แต่วันนี้ "แอร์เอเชีย" ก็แสดงให้เห็นความจำเป็น ที่จะต้องรักษาฐานที่มั่นทางการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด

เนื่องจากที่ผ่านมา สายการบินแควนตัส (Qantas Airways Ltd) จากออสเตรเลีย ได้เข้าไปเทคโอเวอร์สายการบินเจ็ตสตาร์ ให้เข้าไปอยู่ในอ้อมแขนของแควนตัส ยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจการบิน พยายามที่จะผลักดันให้กลุ่มทุนจากออสซี่ โหมประชาสัมพันธ์กระหึ่มไปทั่วทั้งเอเชียว่า จะยึดโซนแถบอาเซียนและเอเชียเป็นศูนย์กลาง โกยเงินในเส้นทางธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ภูมิภาคอาเซียน จึงกลายเป็นเค้กก้อนโตที่ทั้งสองสายการบินต่างเล็งไว้ เพื่อที่จะเข้ามาใช้เป็นโลเคชั่น หวังตั้งเป็นศูนย์กลางทางการบิน แผ่ขยายอาณาจักรของตนเองกว่า 3 ปีที่ ดาโต๊ะโทนี เฮอร์นันเดซ (Tony Hernandez) ซีอีโอของของแอร์เอเชีย มาเลเซีย นำโลว์คอสต์แอร์ไลน์บินเข้ามายังไทย ด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-300 ขนาด 148 ที่นั่ง นำร่องเปิดให้บริการใน 2 เส้นทางจากนั้นก็เพิ่มทั้งจำนวนเครื่องบินและเส้นทางบินไปเรื่อยๆ ตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลักจนกระทั่งล่าสุด มีเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอยู่จำนวนมาก โดยบินประจำทุกวัน ด้วยราคาสุดคุ้มถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือต่ำกว่าราคาตลาดที่สายการบินนานาชาติบินกันอยู่

ขณะเดียวกันในแต่ละเที่ยวบินของแอร์ เอเชีย ที่ขายราคาถูกนั้น จะถูกจำกัดจำนวนที่นั่ง โดยสร้างราคาตลาด (market fare) ไว้ถึง 11 ราคา สูง-ต่ำจะต่างกันประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับใครจองก่อนจะได้ขึ้นเครื่องก่อน ได้เลือกที่นั่งก่อน เพราะบัตรขึ้นเครื่องจะไม่พิมพ์เลขที่นั่ง ให้ผู้โดยสารเลือกเองตามสะดวก ระหว่างบินจะไม่เสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม (no frill) แต่จะเน้นลงทุนทำให้โปรดักส์ในเครื่องบินปลอดภัยสูง เก้าอี้สบาย มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ใช้

ด้วยจุดขายนี้เองส่งผลให้ผลประกอบการของ "แอร์เอเชีย"เติบโตแบบดีวันดีคืน สามารถสร้างเม็ดเงินกำไรเข้าสู่บริษัทได้เป็นอย่างกอบเป็นกำ จนทำให้คู่แข่งขันในวงการธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ มีการขยายตัวเปิดให้บริการกันเพิ่มขึ้น

หนึ่งในนั้นก็คือสายการบินเจ็ตสตาร์ ที่เดินหน้าขยายบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ หวังตอบรับความสำเร็จ จากการเปิดให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลในปีแรก ด้วยการเปิดแคมเปญคืนเงินส่วนต่าง 2 เท่า หากมีสายการบินอื่นเปิดจองที่นั่งบนเว็บไซต์ในราคาที่ต่ำกว่า ที่สำคัญสายการบินเจ็ตสตาร์มีการเติบโตมากกว่า 3 เท่า หลังจากเริ่มเปิดดำเนินการ ด้วยการเป็นสายการบินภายในประเทศออสเตรเลียเมื่อ 3 ปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกเกือบ 10 เท่าในปี 2553/2554 และในปีงบประมาณ 2550 เจ็ตสตาร์ให้บริการรับส่งผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 7.6 ล้านคน

การเป็นหนึ่งในสายการบิน ที่มีค่าโดยสารราคาประหยัดรายแรกของโลก ที่เปิดบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลครั้งนี้ ประเดิมด้วยเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-เมลเบิร์น และภูเก็ต-ซิดนีย์เส้นทางละ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ แอร์เอเชีย ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ดึง "เวอร์จิ้น บลู" เข้าถือหุ้นส่วนถึง 20% พร้อมตั้งเป้าบุกเบิกธุรกิจโลว์คอสต์ เจาะตลาดบินระยะไกลชนิดข้ามทวีปเช่นเดียวกัน โดยมีเส้นทางนำร่อง กัวลาลัมเปอร์-ออสเตรเลีย พร้อมกับงัดกลยุทธ์เดิมดัมป์ราคาตั๋วโปรโมชั่น จูงใจนักเดินทางลดลงเหลือเพียง 900-19,000 บาทโดยใช้ฝูงบินก่อนเพียง 1 ลำ ขณะเดียวกันก็มีการสั่งซื้อฝูงบินแอร์บัส A330-300s ใหม่ 15 ลำ ไว้รองรับการขยายเส้นทางในทันที

โดยจุดหมายอื่นจะเปิดเพิ่มเส้นทาง หางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หวังเชื่อมเครือข่ายตลาด เอเชีย เอ็กซ์ เข้าสู่ออสเตรเลีย สนับสนุนเวอร์จิ้นและจะช่วยสร้างจุดเชื่อมต่อนักเดินทาง จากยุโรปเข้าออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดหลักทุกปีมีจำนวนสูงมาก

แอร์เอเชีย มีความพยายามจะวางตำแหน่งการตลาดของ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำอย่างแท้จริง เพื่อให้บริการบินระยะไกลเป็นรายแรก ชูการทำโปรโมชั่นเส้นทางแรกขายตั๋ว 90-1,900 ริงกิต (900-19,000 บาท) บิน 4 เที่ยว/สัปดาห์ เมื่อประสบความสำเร็จจะปรับเป็น 2 เที่ยว/วัน หรือ 14 เที่ยว/สัปดาห์

"การเลือกเปิดตลาดแรกเข้าออสเตรเลีย เพราะมั่นใจว่าตลาดมีความต้องการสูง ขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมาย อันดับต้นๆ ของออสเตรเลีย อีกทั้งกัวลาลัมเปอร์มีศักยภาพส่งต่อผู้โดยสาร ไปยังจุดหมายอื่นในภูมิภาค เช่น บาหลี โกตากินะบะลู กรุงเทพฯ"โทนี่ ได้กล่าวไว้เมื่อไม่นานหลังเปิดตัวแอร์เอเชีย เอ็กซ์

ปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ให้บริการระยะไกลจากออสเตรเลีย อย่างเจ็ตสตาร์ แอร์ไลน์ แนวโน้มจะถูก แอร์เอเชีย เอ็กซ์ แย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้ เนื่องจากลูกค้าจำนวนมากที่มีอยู่ จะสนใจกับกลไกของราคาที่เหมาะสมเท่านั้น หากแต่ว่า เจ็ตสตาร์กับแอร์เอเชีย ใครจะกระตุ้นการซื้อได้ดีกว่ากัน

นอกจากนี้ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ตัวจักรสำคัญในการผลักดันกัวลาลัมเปอร์ เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศต้นทุนต่ำอาเซียน ด้วยยุทธศาสตร์ที่มีแอร์เอเชียช่วยสนับสนุนการผลิตบุคลากร ผลิตนักบินที่สถาบันแอร์เอเชีย อคาเดมี ปัจจุบันผลิตนักบินฝึกหัด 400 คน/ปี รวมทั้งสนับสนุนเครื่องบินสำรองแก่แอร์เอเชีย เอ็กซ์ทั้งหมด 10 ลำ

ขณะที่ เจ็ตสตาร์มีแควนตัส เป็นหุ้นส่วน ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของวงการธุรกิจการบินให้ดูดีขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับลูกค้า ด้านแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็ไม่น้อยหน้าใช้ เวอร์จิ้น บลู เป็นหุ้นส่วนที่จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในตลาดโลก รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธ์กับสนามบินนานาชาติ รัฐบาลและองค์กรควบคุมกฎระเบียบการขนส่งทางอากาศต่างๆ ส่วนเส้นทางบินหลักระยะไกลใช้เวลา 4 ชั่วโมงขึ้นไป เป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง ยุโรป ขณะนี้ได้สิทธิการบินเรียบร้อยแล้วไปยัง อวาลอน, โกลด์โคสต์ (ออสเตรเลีย) และลอนดอน

ทั้งนี้แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก่อตั้งเมื่อมกราคม 2550 วางยุทธศาสตร์ขยายตลาดเส้นทางระยะไกล เชื่อมต่อกับเครือข่ายเส้นทางระยะสั้นที่แอร์เชียมีอยู่ในปัจจุบัน ทำการเซ็นสัญญาขายหุ้น 20% ให้เวอร์จิ้น กรุ๊ป ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติปูตราจาย่า มาเลเซีย เมื่อ 10สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา

เจ็ตสตาร์เล็งไทยเป็นศูนย์กลาง

ปัจจุบันแควนตัส ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบินแบบโลว์คอสต์เจ็ตสตาร์แอร์เวย์ส (JetStar Airways) กำลังพยายามหาทางย้ายฐานการบินแบบโลว์คอสต์ออกไปจากสิงค์โปร์ ซึ่งมีข้อจำกัดทางสภาพภูมิศาสตร์ทำให้ขาดทุนมาตลอดช่วง 2 ปีมานี้

สิงคโปร์ไม่เหมาะที่จะเป็นฐานธุรกิจการบิน เนื่องจากเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถเปิดบินภายในประเทศได้ การมีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับแปซิฟิกแอร์ไลน์ จะช่วยให้แควนตัสกับเจ็ตสตาร์ เปิดช่องทางทำธุรกิจบินโลว์คอสต์ในตลาดใหญ่อย่างเวียดนาม และในภูมิภาคเอเชียได้

การให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย เพราะ "กรุงเทพฯ และภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวออสเตรเลีย ด้วยการเป็นสายการบินที่มีค่าโดยสารราคาประหยัด ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพให้เลือกสรร เจ็ทสตาร์จึงเป็นทางเลือกยอดนิยม ในการเดินทางของนักท่องเที่ยว อันเป็นปัจจัยที่เสริมความเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดของเจ็ตสตาร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เจ็ทสตาร์มีบริการเที่ยวบินตรงระหว่าง สิงคโปร์ - กรุงเทพฯ 3 เที่ยวบินต่อวัน หรือ 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเที่ยวบินสิงคโปร์ - ภูเก็ต สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน"เจ็ทสตาร์เน้นการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลของเจ็ตสตาร์ เราเริ่มด้วยการจัดตั้งฐานลูกเรือขึ้นในกรุงเทพฯ ที่รองรับลูกเรือกว่า 100 คน นับเป็นฐานลูกเรือสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลเพียงแห่งเดียวของเจ็ทสตาร์ ที่ตั้งอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย" มร. จอยซ์กล่าว

และเพื่อเป็นการตอกย้ำปณิธานในการเป็นสายการบินที่มอบค่าโดยสารราคาประหยัดสูงสุด เจ็ตสตาร์จึงมีแผนคลิกไอเดียจัดทำคูปองคืนเงิน 2 เท่า "Double the Difference" ซึ่งเป็นการรับประกันการคืนเงินค่าโดยสารส่วนต่างอีกเท่าตัว

โมเดลทางการตลาดง่ายๆก็คือผู้โดยสารที่จองที่นั่งของเจ็ตสตาร์ แล้วพบว่า มีสายการบินอื่นเปิดจองที่นั่งโดยสารบนเว็บไซด์ ในราคาที่ต่ำกว่าเจ็ตสตาร์ ในเที่ยวบินระหว่างประเทศระยะไกลในเส้นทางเดียวกัน และวันเดินทางเดียวกัน จะได้รับคูปองการคืนเงินค่าโดยสารส่วนต่างถึง 2 เท่า ซึ่งคูปองดังกล่าว ลูกค้าสามารถนำมาใช้เป็นส่วนลด ในการจองที่นั่งโดยสารสำหรับการเดินทางครั้งต่อไป

"คูปอง "Double the Difference" ใช้กับเส้นทางบินระหว่างประเทศจากออสเตรเลียทุกเส้นทางของเจ็ตสตาร์ (ยกเว้นเส้นทางบินจากญี่ปุ่น) รวมทั้ง เส้นทางบินในประเทศออสเตรเลียและระหว่างหมู่เกาะแทสแมนทุกเส้นทาง"มร.จอยซ์ กล่าว

ขณะเดียวกันการขยายเส้นทางให้บริการของ เจ็ตสตาร์ ได้ถูกวางแผนไว้ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะเปิดให้บริการ เพื่อตอบรับความนิยมเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ด้วยค่าโดยสารราคาคุ้มค่า ล่าสุด เจ็ตสตาร์มีการเตรียมเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางระหว่างซิดนีย์ - บาหลี

"บาหลี คือ หนึ่งในตลาดการบินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดของเจ็ตสตาร์ โดยมีผลประกอบการโดดเด่นมาโดยตลอด ทำให้เราตัดสินใจเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินระหว่างออสเตรเลีย - เดนปาซาร์เพิ่มขึ้นอีก 50%" มร. จอยซ์ กล่าว

ปัจจุบัน เจ็ตสตาร์ให้บริการเที่ยวบินซิดนีย์-บาหลี และซิดนีย์-เมลเบิร์นเส้นทางละ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคมเป็นต้นไป เจ็ทสตาร์จะเพิ่มเที่ยวบินระหว่างซิดนีย์-บาหลีเป็นสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบินในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เจ็ทสตาร์ได้ขยายบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ ด้วยการเปิดบริการเส้นทางบินใหม่ ระหว่างออสเตรเลีย-มาเลเซีย และการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างแคนส์-โอซากา

ฝูงบินระดับโลก

ความปลอดภัยสูงสุดกลายเป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจการบิน ดังนั้น เจ็ตสตาร์จะเป็นสายการบินรายแรกของออสเตรเลีย ที่ปรับเปลี่ยนไปใช้ฝูงบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์รุ่นใหม่ รวม 15 ลำ ซึ่งจะนำไปใช้ในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลในอนาคต เริ่มตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป และหลังจากปรับเปลี่ยนไปใช้ฝูงบินดรีมไลเนอร์รวมทั้งหมด 15 ลำ เจ็ทสตาร์จะก้าวขึ้นเป็นสายการบินระหว่างประเทศระดับแนวหน้า ที่มีการใช้ประโยชน์จากฝูงบินในอนาคต

ซึ่งในปีนี้ เจ็ตสตาร์ได้รับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ330-200 ใหม่อีก 2 ลำ ส่งผลให้ฝูงบินแอร์บัส เอ330-200 ของเจ็ตสตาร์มีอายุโดยเฉลี่ยเพียง 3 ปี สำหรับการซ่อมบำรุงฝูงบินของเจ็ตสตาร์ อยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของบริษัท แควนตัส เอ็นจิเนียริ่ง นอกจากนี้ การดำเนินงานของเจ็ตสตาร์ ยังใช้มาตรฐานความปลอดภัยเดียวกับสายการบินอื่นๆ ในเครือแควนตัส ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในสายการบินที่มีความปลอดภัยสูงสุดในโลก

ด้าน แอร์เอเชีย กลับมั่นใจที่เปิดให้บริการในเส้นทางบิน เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นประชากรของไทยและมาเลเซียซึ่งมีอยู่กว่า 70 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีคน 2% ของพลเมืองทั้งหมด เข้ามาใช้บริการเที่ยวบินแอร์เอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลย์ 80% เลือกมาเที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับแรก ต่อไปการท่องเที่ยวไทยจะคึกคักมากขึ้น เพราะคนมีโอกาสเลือกเดินทางในราคาถูกลงโดยใช้เวลาเดินทางสั้นลงด้วย

ซีอีโอแอร์เอเชีย กล่าวถึงการลงทุนในครั้งที่เปิดให้บริการครั้งแรกว่า ธรรมดาแอร์ เอเชีย ไม่มีหนี้สิน หลังจากมีแผนเปิดบินเข้าไทยจึงได้กู้เงินจากธนาคารดีบีเอสฯ 1,100 ล้านบาท (100 ล้านริงกิต) นำไปซื้อเครื่องโบอิ้ง 737-300 ซึ่งปัจจุบันมีการทยอยส่งมอบเครื่องบินใหม่รุ่นแอร์บัส A320 นำมาใช้เปิดให้บริการลูกค้าแทนเครื่องบินรุ่นเก่าและคาดว่าภายในปี 2553 แอร์เอเชียจะมีเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 อยู่ในมือถึงจำนวน 40 ลำทีเดียว

ว่ากันว่า แอร์เอเชียมีแผนที่จะเปิดข่ายการบินแบบโลว์คอสต์เชื่อมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเติบโต (ของการบินโลว์คอสต์) ในภูมิภาคนี้น่าทึ่งจริงๆ หากใครเดินเกมไม่ทันก็จะกลายเป็นผู้ตามทันที

แผนการจัดตั้งสายการบินโลว์คอสต์แห่งที่ 2 นี้ ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายการบินแปซิฟิกแอร์ไลน์ ที่จำหน่ายหุ้นในสัดส่วนเดียวกันนี้ให้แก่สายการบินแควนตัส (Qantas) แห่งออสเตรเลีย เมื่อต้นปีเพื่อเชื่อมปลายทางต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ

แควนตัสได้จัดโครงสร้างการบริหารใหม่ และส่งเจ้าหน้าที่จากออสเตรเลียนั่งประจำคณะกรรมการบริหาร แต่การขยายกิจการดำเนินไปค่อนข้างล่าช้าในช่วงหลายเดือนมานี้

การซื้อหุ้นในแปซิฟิกแอร์ไลน์ของแควนตัส ก็เพื่อให้สายการบินเจ็ตสตาร์เอเชีย(JetStar Asia) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ขาดทุนมาตลอดได้มีโอกาสเปิดตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่การบินโลว์คอสต์เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในไม่กี่ปีนี้เอง

แปซิฟิกแอร์ไลน์ซึ่งมีเครื่องบินให้บริการอยู่เพียง 3 ลำ ได้ประกาศจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ลำ แต่ก็ยังไม่กำหนดเวลาที่แน่นอน ขณะที่สายการบินแห่งนี้ประกาศเปิดเส้นทางใหม่ๆหลายแห่ง รวมทั้งบินมายังกรุงเทพฯและบินเชื่อมไต้หวันด้วยเครื่องแอร์บัส A321 ที่มีอยู่

แอร์เอเชียเจาะเวียตนาม

การรุกคืบของแอร์เอเชีย จึงส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนจากออสเตรเลียในแปซิฟิกแอร์ไลน์โดยตรง ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น การปรากฏตัวของฮับการบินเอเชียแห่งที่ 2 ของ แอร์เอเชีย ในเวียดนามยังจะส่งผลโดยตรงถึงสายการบินแห่งชาติเวียดนามแอร์ไลน์ส ซึ่งในปัจจุบันครอบครองเส้นทางหลักภายในประเทศ ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางทีมีกำไร

สายการบินโลว์คอสต์แห่งใหม่จะส่งผลกระทบต่อสายการบินต่างๆ ในเวียดนามอย่างแน่นอน ทุกแห่งจะต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขัน โดยนักเดินทางและนักท่องเที่ยวจะเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์

จึงไม่แปลกที่ แอร์เอเชียเพิ่งประกาศขยายเส้นทางใหม่จากไทยและมาเลเซียไปยังฮ่องกง และในวันต่อมา บริษัทนี้ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์ ได้ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาสที่ 4 ที่เพิ่มขึ้นถึง 41.5% คิดเป็น 53 ล้านดอลลาร์ แอร์เอเชียยอมรับว่าผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นราว 45% นั่นเอง

ปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องบินใช้งานจำนวน 50 ลำ เป็นเครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 15 ลำ กับ โบอิ้ง737-300s อีก 35 ลำ แต่เมื่อปี 2548 บริษัทแม่แอร์เอเชียในมาเลเซียได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องแอร์บัส A320 ล็อตใหญ่จำนวน 150ลำ ทั้งหมดมีกำหนดจะขึ้นบินได้ในปี 2552

การสั่งซื้อครั้งใหม่นี้ จะทำให้แอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเครื่องบินรวมประมาณ 200 ลำมากกว่าสายการบินขนาดใหญ่ในเอเชียทุกสายในปัจจุบัน และยังเป็นสายการบินที่มีเครื่องแอร์บัส A320 ในฝูงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

"เราต้องการเครื่องบิน A320 อีก 25ลำ และจะมีการประกาศเรื่องนี้ภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า" ซีอีโอแอร์เอเชียกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดว่ากันว่าแอร์เอเชียอาจจะใช้ฐานในเวียดนาม เปิดบินเชื่อมปลายทางต่างๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

จะว่าไปแล้ว นโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรีเพื่อเปิดทางให้เกิด "โลว์คอสต์แอร์ไลน์" นั้น "ผู้โดยสาร" จะได้เห็นศึกช้างชนช้างในสนามการตลาด ระหว่างภูมิภาคและในประเทศอย่างชัดเจน

แต่ด้วยโมเดลการตลาดที่แยบยลไปด้วยสงครามหั่นราคาตั๋วโดยสาร สำหรับเส้นทางระยะไกลข้ามทวีปแบบนี้ กอปรกับแนวคิดที่จะหาวิธีช่วงชิงลูกค้า ให้เข้าไปใช้บริการให้มากที่สุด จึงต้องจับตาดูว่า ระหว่าง แอร์เอเชีย กับ เจ็ตสตาร์ สองเสือผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลว์คอสต์เอเชีย ใครจะมีดีกรีพอที่จะสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำดีกว่าผู้ตาม....ซึ่งที่แน่ๆ ผู้โดยสารจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ทั้งหมดจะต้องรู้วิธีซื้อเพราะของดีราคาถูกเป็นกลยุทธ์โฆษณา ซึ่งถูกจำกัดด้วยจำนวนเก้าอี้ไม่กี่ที่นั่ง อาจจะไม่มีคุณภาพอย่างที่คิดก็เป็นได้

Manager Online