แอร์ไลน์นอกขับเครื่องบินหนีไทย ชี้แผน5ปีงดเพิ่มเที่ยวบิน-จี้รัฐแก้ก่อนแผนสู่ฮับล

Submitted by admin on

“นายกBAR” ระบุ แผน 5 ปี สายการบินต่างประเทศ เมินบรรจุแผนเพิ่มเที่ยวบินมาไทย หันบินเข้า จีน อินเดีย เวียดนาม ทดแทน เหตุสุวรรณภูมิเก็บค่าแลนด์ดิ้งแพง ฉะปัญหา 2 สนามบินในไทย ทำเอาผู้โดยสารเสียเวลาต่อเครื่อง จี้รัฐบาล และ AOT เร่งแก้ปมปลดล็อกปัญหา หวั่นไทยหมดหวังเป็นฮับในภูมิภาค

นายไบรอัน ซินแคลร์-ทอมสัน (Brian Sinclair-Thompson) นายกสมาคมธุรกิจการบิน (Board of Airline Representatives หรือ BAR) ประเทศไทย และ ผู้จัดการทั่วไป สายการบิน สวิส ซึ่งมีสมาชิก คือ สายการบินต่างประเทศ ที่มีเส้นทางบินเข้ามาในประเทศไทย กล่าวว่า ในแผนการดำเนินงานธุรกิจ 5 ปี ของสมาชิก ส่วนใหญ่แล้ว จะไม่มีแผนที่จะเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อบินเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้เพราะ สนามบินสุวรรณภูมิ มีการปรับค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงท่าอากาศยาน(แลนด์ดิ้งฟี) ขึ้นอีก 35% ส่งผลให้ ค่าแลนด์ดิ้งของสนามบินสุวรรณภูมิ แพงกว่าสนามบินอื่นๆ ในประเทศใกล้เคียง ที่เป็นคู่แข่งขัน หากสายการบินใดบินเข้ามา ก็จะมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งในสถานการณ์ธุรกิจการบิน ที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ประกอบกับต้นทุนค่านำมันที่แพงขึ้น ทุกสายการบินจะต้องยอมประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เกือบทุกสายการบินจึงมีนโยบายตรงกันว่า จะไม่บินเข้ามาประเทศไทย

“ในส่วนของสายการบินสวิส ซึ่งปัจจุบันบินเข้าสุวรรณภูมิสัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน ซึ่งจากดีมานด์ของลูกค้า บริษัทฯสามารถเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7-10 เที่ยวบินก็ได้ แต่เราไม่ทำ เพราะค่าแลนด์ดิ้งที่นี่สูงมาก จึงหันไปเพิ่มเที่ยวบิน ไปลงที่กรุงเดลี ประเทศอินเดียแทน ขณะที่สมาชิก Bar เท่าที่คุยกัน สรุปว่า หากจะเลือกบินเข้ามาในภูมิภาคนี้ คงเลือกบินลงที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเขาให้อินเซนทีฟเป็นสัญญาฟรีค่าแลนด์ดิ้งถึง 5 ปี หรืออาจบินไปลงที่จีน อินเดีย หรือ เวียดนาม ก็จะได้อินเซนทีฟที่ดีกว่า”

นายก BAR ยังกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่า สายการบินใหม่ๆ ที่เปิดเส้นทางบินเข้ามาประเทศไทย ส่วนใหญ่ เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) และ สายการบินจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ดังนั้นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมาในประเทศไทยขณะนี้ จึงเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป และ กลุ่มเมดิคัล ทัวร์ริสซึม แต่ นักท่องเที่ยวระดับบน และ กลุ่มนักธุรกิจจะลดน้อยลง เพราะมีเที่ยวบินเข้ามาประเทศไทยน้อย ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความสะดวก

นอกจากนั้น การเปิดใช้ 2 สนามบินของประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นปัญหา เพราะผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศกว่า 70% จะต้องเข้ามาต่อเครื่อง เพื่อเดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยว หรือประเทศอื่นๆ ซึ่งการมี 2 สนามบิน ทำให้ผู้โดยสารต้องใช้เวลาต่อเครื่องนานกว่า 1-2 ชั่วโมง จากเดิม ที่ใช้สนามบินดอนเมือง จะเสียเวลาต่อเครื่องเพียง 50 นาที

ปัญหาทั้งหมดดังกล่าว ทาง BAR เคยส่งหนังสือถึง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOT แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการจัดการ หรือปรับให้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ยังขาดผู้นำที่จะตัดสินใจได้ เพราะมีเพียงผู้บริหารระดับรักษาการ จึงไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ

“สุวรรณภูมิ มีศักยภาพที่จะเป็นฮับทางการบินในภูมิภาคนี้ได้ เพราะอยู่ใกล้เมือง และการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น แอร์พอร์ตลิ้ง ใกล้จะเสร็จแล้ว แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันสุวรรณภูมิเองก็มีการใช้พื้นที่เต็มหมด จนต้องย้ายมาใช้สนามบินดอนเมือง การขึ้นค่าแลนด์ดิ้งฟี ทั้งหมดคือปัจจัยลบ ที่ทำให้สายการบินต่างๆเมินที่จะเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอีกคือ ขยายอาคารผู้โดยสาร และ เพิ่มรันเวย์ ให้เพียงพอ”

อย่างไรก็ตาม ยังต้องการเสนอให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ การบินไทย ออกโรดโชว์ร่วมกัน ในงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะจะได้มั่นใจได้ว่า มีสายการบินรองรับในตลาดที่ ททท.ไปโปรโมต ทำให้ผลการโรดโชว์มีประสิทธิภาพ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

Manager Online